เทือกเขาคอเคซัส…น่าเที่ยวจริงหรือ ?

เมื่อเจอคำถามโดนใจเช่นนี้  มากระตุกต่อมอยากรู้อยากเห็นขึ้นมาทันใด จึงไม่ลังเลที่จะรีบหาคำตอบและเหตุผลดีๆที่มีอยู่มากมายก่ายกอง
รอสนับสนุนการเดินทางไปในเส้นทางหอมหวานบนดินแดนแห่งเทือกเขาคอเคซัส เอาเป็นว่าตามมาพิสูจน์ดูกันเองดีกว่าก่อนจะด่วนสรุป !

เทือกเขาคอเคซัส (Caucasus Mountains) เป็นเทือกเขาสูงขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของทวีปยุโรป โดยมียอดเขาเอลบรูสที่มีความสูงกว่า 5,642 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล 
ได้ชื่อว่าเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปยุโรป สูงกว่ายอดเขามองบลังค์แห่งเทือกเขาแอลป์ในประเทศฝรั่งเศส เทือกเขาคอเคซัสแห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นปราการธรรมชาติแบ่งพรมแดนระหว่างทวีปยุโรปและทวีปเอเชียให้ปรากฎเด่นชัดในสังคมโลกจนทำให้เกิดปรากฏการณ์กลุ่มประเทศสองทวีปขึ้นมาบนโลกใบนี้ภายใต้ร่มเงาของเทือกเขาคอเคซัส ได้แก่ ประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซีย จอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจัน

เทือกเขาคอเคซัส หากมองดูผ่านหลักการทางภูมิศาสตร์แล้ว มันช่างใหญ่โตทั้ง Greater Caucasus และ Lesser Caucasus ที่ทอดตัวพาดผ่านหลายประเทศเสียจริง 
อีกทั้งยังเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญเรื่อยมา นับตั้งแต่อดีตในยุคของการค้าที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีในนามของ “เส้นทางสายไหม” (Silk Road) จวบจนกระทั่งในยุคของอดีตสหภาพโซเวียตเข้ามาปกครองดินแดนแถบนี้ ก็ยังให้สำคัญอย่างต่อเนื่องถึงกลับสั่งให้สร้างถนนทางหลวงข้ามเทือกเขาคอเคซัส (Georgian Military Highway) เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนส่งกำลังพลเข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อยของจอร์เจียและบริเวณใกล้เคียง เมื่อได้เดินทางเข้าไปตามเส้นทางคอเคซัสทัวร์แล้วมีโอกาสได้เห็นสิ่งก่อสร้างต่างๆตามรายทาง เช่น คาราวานซารายในดินแดนแถบอาร์เมเนียที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่บนเทือกเขาสูงและทรุดโทรมลงบ้างตามกาลเวลา ทำให้อดไม่ได้ที่จะย้อนเวลาไปคิดถึงอดีตที่รุ่งเรือง
ของการค้าบนทางสายไหมว่าจะครึกครื้นแค่ไหน แม้แต่ถนนทางหลวงทหารสายประวัติศาสตร์นี้เองก็เช่นกันสัมผัสได้ถึงอารมณ์สองขั้วของความยากลำบากในการสร้างกับความสวยงาม
ของธรรมชาติสองข้างทางในคราวเดียวกัน  

ความสำคัญของเทือกเขาคอเคซัสไม่เคยลดเลือนลงเลยแม้ในปัจจุบัน เหตุเพราะว่าเป็นเส้นทางลำเลียงสำคัญในการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ขุดพบได้จากทะเลแคสเปียนในประเทศอาเซอร์ไบจัน ว่ากันว่าทะเลแคสเปียนเป็นแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับสามของโลกทีเดียว
เทือกเขาคอเคซัส เป็นที่ตั้งของกลุ่มประเทศที่เรียกว่า ทรานส์คอเคเซีย (Transcaucasia) ได้แก่ จอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจัน กว่าจะหล่อหลอมมาเป็นประเทศทั้งสามในปัจจุบันได้นั้นแสนทรหดยิ่งแต่ก็รอดมาได้ ความเป็นมาของทรานส์คอเคเซียตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็เป็นไปตามสถานการณ์ต่างๆในหน้าประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน 
แต่ที่ถือว่าโหดร้ายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน จัดเป็นยาพิษของทรานส์คอเคเซียยุคใหม่เกิดจากความคิดแยบยลของโจเซฟ สตาลิน อดีตจอมเผด็จการอันถือเป็นฝันร้ายของชาวทรานส์คอเคเซียทุกกลุ่มชนชาติ กล่าวคือ เขาวางแผนแบ่งแยกแผ่นดินให้เกิดความขัดแย้งกันเองระหว่างกลุ่มเชื้อชาติที่แตกต่างกันในเรื่องของศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อสกัดกั้นไม่มีให้มีเวลาพัฒนาบ้านเมือง ให้เวลาหมดไปกับการช่วงชิงดินแดนของตนกลับคืนมา แม้ในปัจจุบันรอยร้าวความบาดหมางระหว่างชนชาติก็ยังคงปรากฎอยู่ให้เห็นเป็นร่องรอยลึกที่ฝังอยู่ในใจของผู้คนในดินแดนแถบนี้ อย่างไรก็ดีความสงบได้กลับคืนมาอีกครั้งเมื่อแต่ละประเทศได้ประกาศอิสรภาพออกจากสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1991 เป็นผลสำเร็จ

คอเคซัส “ประเทศสองทวีป” ที่ได้ซึมซับรับเอารากเหง้าทางศิลปวัฒนธรรมและการเมืองการปกครอง
ที่ผูกพันกับทวีปยุโรปซีกโลกตะวันตกมากกว่าซีกโลกตะวันออกอย่างเอเชีย ดูได้จากอาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ และศาสนสถานเก่าแก่มากมายที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน 
ความโดดเด่นที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของดินแดนแถบนี้คือ ผลไม้ท้องถิ่น อาทิเช่น
จอร์เจีย คู่กับ องุ่น เป็นบ้านเกิดของไวน์ 
อาร์เมเนีย คู่กับ ทับทิม เป็นบ้านเกิดของน้ำทับทิม และทับทิมถือเป็นผลไม้ประจำชาติของอาร์เมเนียอีกด้วย


Top